ศูนย์นวัตกรรมและสังคมแห่งความยั่งยืน (SIS) วิทยาลัยนานาชาติ มข. นำเสนอ “แบบจำลองธุรกิจสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อการจัดการเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปมะม่วง และเศษเหลือทิ้งทางการเกษตร”

โครงการวิจัย “ESAN Circular X Creative Economy – แบบจำลองธุรกิจสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการจัดการการสูญเสียและเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปมะม่วงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ธุรกิจที่มีการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จะมีกระบวนการนำวัสดุเหลือทิ้งต่าง ๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าแก่ธุรกิจ แทนที่การทิ้งเป็นขยะที่เปล่าประโยชน์ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญนี้ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดโครงการ R&D Boost Up เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในปี 2564


ในโครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อ (1) เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจและสร้างการตระหนักรู้แก่สังคม เกี่ยวกับการบริหารจัดการเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมมะม่วงแปรรูป บนพื้นฐานความคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (2) เพื่อพัฒนานวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมมะม่วงแปรรูป จำนวน 5 นวัตกรรมสร้างสรรค์โดย 6 โครงการวิจัยย่อย ประกอบด้วย
1) คลาวด์แพลตฟอร์มแบบบูรณาการเพื่อการจัดการส่วนเหลือทิ้งจากการผลิตมะม่วงแปรรูป และการจัดการความรู้เครือข่ายทางธุรกิจ
2) นวัตกรรมบัตเตอร์จากเมล็ดมะม่วง
3) นวัตกรรมกระดาษจากเปลือกมะม่วง
4) นวัตกรรมหนังมังสวิรัติจากเนื้อมะม่วง
5) นวัตกรรมหัตถกรรมจากเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปมะม่วง และ
6) เพื่อนำเสนอโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนในห่วงโซ่อุปทานการผลิตมะม่วงแปรรูปแก่ชุมชนที่ร่วมโครงการ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิต นวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษมะม่วงเหลือทิ้ง พร้อมทั้งนำไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม


โครงการวิจัยนี้มีบริษัทที่จะร่วมทุนจำนวน 2 บริษัท คือ 1) บริษัทประกอบธุรกิจอาหารแปรรูปจากมะม่วงภายใด้แบรนด์ “เลดี้ศกุลตลา” และ 2) บริษัทประกอบธุรกิจหัตกรรมส่งออกภายใต้แบรนด์ “สัมผัสแกเลอรี่” โดยเลดี้ศกุลตลายินยอมรับเทคโนโลยีที่ 1 ถึง 4 ส่วนสัมผัสแกเลอรี่ยินยอมรับเทคโนโลยีที่ 5 ผู้ก่อตั้งสัมผัสแกเลอรี่เป็นที่รู้จักในฐานะนักออกแบบผลิตภัณฑ์ผู้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างงานหัตถกรรมกับงานอุตสาหกรรม และมีตลาดส่งออกในยุโรปที่อยู่ตัวแล้วเพื่อรองรับนวัตกรรมหัตถกรรม ช่องทางการตลาดจึงถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างมากสำหรับโครงการวิจัยนี้ หลังจากจบโครงการผู้ประกอบการจะได้รับการบ่มเพาะผ่านโครงการ Business Incubation โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมกับศูนย์ Sustainable Innovation and Society (SIS) ดำเนินการภายใต้วิทยาลัยนานาชาติ เป็นเวลา 1 ปี เพื่อเรียนรู้ระบบบริหารจัดการโมเดลธุรกิจแบบออนไลน์ที่สร้างขึ้น หลังจบจากโครงการ Business Incubation ศูนย์ SIS ยังคงร่วมบริหารจัดการธุรกิจกับบริษัทเลดี้ศกุลตลาต่อไปในลักษณะหุ้นส่วน โดยศูนย์ SIS สามารถจัดหาบุคลากร ทางด้านบริหารธุรกิจและดิจิทัล (นักวิจัย และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาประจำศูนย์) เพื่อบริหารระบบไอที และห่วงโซ่อุปทานการของธุรกิจ การที่ศูนย์ SIS มีส่วนร่วมดูแลธุรกิจยังสามารถต่อยอดให้เกิดโมเดลการศึกษาแบบ Education Sandbox ที่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นจะเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลธุรกิจและเรียนรู้บทเรียนชีวิตจริงในการทำธุรกิจดิจิทัลไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้โมเดลธุรกิจนี้เติบโตได้อย่างยั่งยืน


Share :

ข่าวทั้งหมด